|
พาณิชย์ปั้นท่าข้าว"กำนันทรง" ศูนย์กลางตลาดรับเสรีอาเซียน
|
นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ระหว่างการจัดสัมมนา Thailand Rice Convention 2011 ระหว่าง 20-23 มิถุนายน 2554 โดยมีผู้เข้าร่วมจากวงการค้าข้าวทั้งกลุ่มผู้ผลิต ผู้ส่งออกทั่วโลก 41 ประเทศได้ริเริ่มเป็นครั้งแรก 3 เรื่อง คือการจัดสัมมนามาตรฐานข้าวกับอนาคตการปรับยุทธศาสตร์ข้าวที่ไทย และเมื่อวันที่ 21 มิถุนายนที่ผ่านมา ได้เปิดตลาดกลางประมูลข้าวสารที่ท่าข้าวกำนันทรง จังหวัดนครสวรรค์ มีปริมาณข้าวสารเข้าร่วมประมูล 24,700 ตัน ผู้สนใจประมูล 42 ราย จำนวน 74 กลุ่มตัวอย่าง ผลการเสนอราคาจาก 11 กลุ่มตัวอย่าง ทำสถิติประมูลได้ถึง 12,362 ตัน คิดเป็นมูลค่า 195,883 บาท เพิ่มขึ้นจากการเปิดตลาดซื้อขายก่อนหน้านี้มีเพียง 60 ตัน มีผู้ส่งออกสนใจหลายกลุ่มและให้ราคาประมูลสูงสุด 15.50 บาท/กิโลกรัม หรือ 15,500 บาท/ตัน เป็นสัญญาณที่ดีในการยกระดับท่าข้าวกำนันทรงเป็นศูนย์กลางการกำหนดราคามาตรฐานและการซื้อขายข้าวสารของประเทศในอนาคตต่อไป
นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ว่า การเปิดตลาดกลางข้าวสารในงานนี้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในไทย เมื่อผลตอบรับดีมีผู้สนใจเข้าร่วมมากขนาดนี้ หลังจากนี้ก็จะเลือกและใช้ประโยชน์จากท่าข้าวกำนันทรง นครสวรรค์ เป็นตลาดกลางการซื้อขายข้าวสารอาเซียน ขานรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ส่วนสาเหตุที่เลือกนครสวรรค์ ก็เพราะเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวมากสุดของประเทศ มีส่วนแบ่งผลผลิต 25-30% ของทั้งหมด มีความพร้อมทางโลจิสติกส์
"ไทยกำลังเร่งปรับยุทธศาสตร์การค้าข้าวใหม่เพื่อรักษาแชมป์ส่งออก เน้นผลิตข้าวมูลค่าสูงและมีมาตรฐาน โดยดำเนินการคู่ขนานกัน 3 เรื่อง เรื่องแรก ขณะนี้เร่งนำร่องปรับปรุงข้าวหอมมะลิพันธุ์ดีให้มีมาตรฐานหลากหลายระดับ จากเดิมมีเพียงข้าว 92% จะแบ่งเพิ่มอีก 2 ระดับ คือระดับ 95% และ 98% สร้างทางเลือกให้ผู้บริโภคมีความต้องการหลากหลาย เป็นการแบ่งเซ็กเมนต์สินค้าเพื่อทำตลาดเจาะลึกชัดเจน เรื่องที่ 2 บรรเทาการปลอมปนข้าวได้อีกทาง เรื่องที่ 3 ปรับมาตรฐานข้าวขาวที่ไทยส่งออกมากที่สุด ควบคุมการสีข้าวแต่ละระดับให้มีคุณภาพเข้มข้นมากขึ้น"
นายชาญชัย รักษ์ธนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า ไทยควรพัฒนาตลาดกลางการค้าข้าวสาร โดยจะเสนอให้กระทรวงพาณิชย์พิจารณาเปิดเพิ่มอีกแห่งที่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิของประเทศเป็นศูนย์กลางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ถ้าสามารถเปิดได้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้ผลิต ผู้ซื้อ และผู้ขาย จะลดต้นทุนโลจิสติกส์ลงได้ถึง 50% จากปัจจุบันต้องเสียค่าขนส่งทางน้ำ 4,000-6,000 บาท/ตู้ เมื่อเปิดศูนย์ที่นครราชสีมาขนส่งโดยระบบรางจะจ่ายเพียง 2,000 บาท/ตู้
Mr.Subash Dasgupta เจ้าหน้าที่อาวุโสฝ่ายการผลิตพืชและอาหาร องค์การเกษตรและอาหารแห่งสหประชาชาติ (FAO) กล่าวว่า ไทยและประเทศผู้ผลิตข้าวต้องวางแผนเผื่ออนาคต 40 ปีข้างหน้า เพิ่มผลผลิตให้ได้ถึง 70% ตามการเพิ่มของประชากรโลกที่จะมีสูงถึง 9,100 ล้านคนในอีก 10 ปี การซื้อขายข้าวจะขึ้นไปถึงปีละ 40 ล้านตัน จากปัจจุบันต้องการเพียง 30 ล้านตัน เวียดนามเป็นคู่แข่งสำคัญของไทย สามารถเพิ่มผลผลิตและคุณภาพได้ใกล้เคียงกัน และส่งออกได้ปีละ 5-6 ล้านตัน
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
|
|
|
 |
|
© Thai Rice Exporters Association
37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678
E-mail : contact@thairiceexporters.or.th
Copyright © 2009 All rights reserved by Thai Rice Exporters Association.
|
|
|